ยาเสพติด: เยาวชนไทยต้องรู้…แต่ไม่ต้องลอง

ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหายาเสพติดมาช้านาน โดยสภาพปัญหาได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการณ์ของโลกในยุคปัจจุบัน เด็กและเยาวชนเริ่มใช้ยาเสพติดมีอายุน้อยลง จากระบบรายงาน บสต. ของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามกรมสุขภาพจิต พบว่า ผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2556-2558 จำนวน 156,884 คน 98,421 คน และ 55,683 คน ตามลำดับ โดยเป็นผู้เข้ารับการบำบัดรักษาในหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต จำนวน 3,975 คน 4,071 คน และ 3,912 คน ตามลำดับ จากสถิติการเข้ารับการบำบัดรักษาแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่กลับพบว่าผู้เข้ารับบำบัดรักษาเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 50 (ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรมสุขภาพจิต, 2559) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ควรได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อยาเสพติด และปัจจัยยั่วยุต่างๆ รวมทั้งการเสริมสร้างทักษะชีวิตเพื่อป้องกันการกลับไปใช้ซ้ำ ซึ่งเมื่อจำแนกชนิดยาเสพติดที่มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษามากที่สุด คือ ยาบ้า ร้อยละ 75.20 รองลงมา คือ กัญชา ร้อยละ 6.83 และกระท่อม ร้อยละ 4.17 ด้านพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดที่น่าเป็นกังวล คือ การใช้ยาเสพติดมากกว่า 1 ชนิดร่วมกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้การบำบัดรักษามีความยุ่งยาก ซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ปัจจุบันยังพบว่าเด็กและเยาวชนมีการนำสารต่างๆ ที่หาได้ง่ายมาผสมกันเพื่อให้ออกฤทธิ์เหมือนสารเสพติด ซึ่งเด็กและเยาวชนมีการทดลองดื่มสารเหล่านี้เนื่องจากมองว่าเกิดจากส่วนผสมของสารที่ไม่เป็นอันตราย โดยที่ไม่ได้คำนึงว่ามีฤทธิ์เสพติด ปัญหาสารเสพติดเป็นปัญหาที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสมองโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี เป็นกลุ่มประชากรที่มีขนาดใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 32.44 ของประชากรทั้งหมดในปี 2557 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2559) ซึ่งเป็นวัยที่ดำเนินชีวิตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ใฝ่หาความรู้ อยากเห็น อยากลองของใหม่ รักพวกพ้อง รักเพื่อน เชื่อเพื่อน และมองหาแบบอย่างเพื่อดำเนินรอยตามแบบ ทัศนคติที่ผิดๆเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดในวัยรุ่น เช่น การเสพไอซ์ ทำให้ผอม ผิวขาว การเสพยาบ้าทำให้เพิ่มความตื่นเต้นในการมีเพศสัมพันธ์ อ่านหนังสือได้นานขึ้น ทำให้มีกำลังวังชา ทำให้มีจิตใจแจ่มใส ทำให้มีสุขภาพดี ทำให้สติปัญญาดี สามารถรักษาโรคบางอย่างได้ จากทัศนคติดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกอยากลองใช้ จนมีการติดสารเสพติดนั้นในที่สุด
ความหมายสารเสพติด คือ สารใดๆก็ตามที่ไม่ใช่อาหารซึ่งสามารถมีผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายและจิตใจ ยาเสพติดสามารถเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก และการกระทำของบุคคลได้ โดยแบ่งตามประเภทการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ได้แก่
สารกระตุ้นประสาท คือ สารที่กระตุ้นร่างกายและการทำงานของสมองให้ทำงานเร็วขึ้น ได้แก่ บุหรี่ โคเคน ยาบ้า ไอซ์ กระท่อม
สารกดประสาท คือ สารที่ทำให้ร่างกายและการทำงานของสมองช้าลง ได้แก่ เหล้า เฮโรอีน
ยาหลอนประสาท คือ สารที่ทำให้การมองเห็น ความรู้สึก และการได้ยินเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ ยาอี ยาเค
สารที่ออกฤทธิ์ผสมผสาน คือ สารที่มีการออกฤทธิ์กดประสาท กระตุ้นประสาท หรือหลอนประสาทได้พร้อมๆกัน ได้แก่ กัญชา
ทำไมคนจึงเสพสารเสพติด???
1.ตนเอง อยากรู้ อยากลอง ต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน ไม่มีความรู้เรื่องสารเสพติด ประสบความล้มเหลวในชีวิต หรือเกิดจากการเจ็บป่วย
– อยากทดลอง เกิดจากความอยากรู้อยากเห็นซึ่งเป็นนิสัยของคนโดยทั่วไปและไม่คิดว่าตนจะติดสารเสพติด จึงไปทำการทดลองใช้ ในการทดลองใช้ครั้งแรกๆ อาจมีความรู้สึกดีหรือไม่ดีก็ตาม ถ้ายังไม่ติดสารเสพติดก็อาจประมาทไปใช้อีก จนในที่สุดก็ติดสารเสพติดนั้น หรือ ถ้าไปทดลองใช้สารเสพติดบางชนิด เช่น เฮโรอีน แม้จะเสพเพียงครั้งเดียว ก็อาจทำให้ติดได้
– ถูกหลอกลวง ยาเสพติดมีรูปแบบต่างๆ มากมาย ผู้ถูกหลอกลวงไม่ทราบว่าสิ่งที่ตนได้กินเข้าไปนั้น เป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรง คิดว่าเป็นยาธรรมดาไม่มีพิษร้ายแรง หรือเป็นอะไรตามที่ผู้หลอกลวงแนะนำ ผลสุดท้ายกลายเป็นผู้ติดสารเสพติด

2.ครอบครัว เช่น บุคคลในครอบครัวติดสารเสพติด ครอบครัวไม่มีความอบอุ่น มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน การหย่าร้างและแต่งงานใหม่ของหัวหน้าครอบครัว พ่อแม่ไม่เข้าใจลูก รักลูกไม่เท่ากัน และมีการเปรียบเทียบระหว่างลูกแต่ละคน หรือเปรียบเทียบกับลูกเพื่อนบ้าน
3.สิ่งแวดล้อม เช่น มีแหล่งผลิตหรือแหล่งระบาดของยาเสพติดที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีตัวอย่างจากสื่อประเภทต่างๆ สังคมไม่เปิดโอกาสหรือไม่ยอมรับผู้ติดยาได้กลับเข้ามาสู่สังคมปกติ อาศัยอยู่ในในสิ่งสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการติดยาเสพติด
4.เศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจ ตกต่ำ ว่างงาน มีหนี้สินล้นพ้นตัวกลุ้มใจที่เป็นหนี้ก็ไปกินเหล้า หรือสูบกัญชาให้เมาเพื่อที่จะได้ลืมเรื่องหนี้สิน บางคนต้องการรายได้เพิ่มขึ้นโดยพยายามทำงานหนักมากขึ้นทั้งๆ ที่ร่างกายอ่อนเพลียมาก จึงรับประทานสารกระตุ้นประสาทเพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้ เป็นต้น ถ้าทำอยู่เป็นประจำทำให้ติดสารเสพติดนั้นได้

เส้นทางการติดยา
เส้นทางการติดยาตั้งแต่เริ่มเสพจนกระทั่งติดสามารถแบ่งได้ เป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. เริ่มทดลองอยากรู้อยากเห็น (Experiment and first-time use) เมื่อมีคนแนะนำให้ทดลอง ร่วมกับความรู้สึกอยากลอง หรือใช้ gateway drug อยู่แล้ว เช่น บุหรี่ เหล้า ซึ่งสารเหล่านี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าสารทำให้เกิดความพึงพอใจ สบายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ หรือเพิ่มพละกำลังในการทำงาน
2. ใช้เป็นครั้งคราว (Occasional use) เกิดความติดใจในผลของสารเสพติด เรียนรู้ว่าหากใช้ปริมาณมากขึ้นก็จะได้รับผลความรู้สึกดีมากขึ้น เกิดความรู้สึกเป็นสุขอย่างมาก
3. ใช้สม่ำเสมอใช้อย่างพร่ำเพรื่อ (Regular use) หมกมุ่นกับการหาสารมาเสพ มีอาการเมายา การทำงาน การเรียนแย่ลง สัมพันธภาพกับคนรอบข้างไม่ดี ใช้จ่ายเงินเปลือง อาจถูกจับเนื่องจากเสพหรือค้า
4. เกิดภาวะพึ่งพาสุรายาเสพติด (Dependence) ใช้สารมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเกิดอาการทนต่อยา (Tolerance) และภาวะถอนยา (Withdraw) หรือ มีการใช้เกินขนาด (Drug Overdose) โดยไม่ตั้งใจ

พิษภัยร้ายของสารเสพติด
ต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสพ
1.ทำลายประสาทสมอง จิตใจเสื่อม ซึมเศร้า วิตกกังวล เลื่อนลอย และเกิดภาวะผิดปกติทางจิตจากสารเสพติดนั้นๆพิษจากสารเสพติดทำลายอวัยวะต่างๆให้เสื่อมลง มีโรคแทรกซ้อนได้ง่าย ร่างกายซูบซีด อ่อนเพลีย
2.เสียบุคลิกภาพ ขาดความสนใจตนเอง ขาดสติสัมปชัญญะการควบคุมกล้ามเนื้อและระบบประสาทบกพร่อง ทำให้ประสบอุบัติเหตุได้ง่าย
ต่อครอบครัวและสังคม
1. ครอบครัวที่มีผู้ติดสารเสพติด มักได้รับความเดือดร้อนจากผู้ติดสารเสพติดในทุกด้าน เช่น การขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท ก่อให้เกิดความเครียด และต้องแก้ไขปัญหาบ่อยๆ
2.ทำให้สูญเสียสมรรถภาพ การทำงาน ทำให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเสียทรัพย์สินรายได้ของครอบครัวเนื่องจากต้องซื้อสารเสพติดมาเสพ และรักษาโรคที่เกิดจากสารเสพติด
3.ปัญหาสารเสพติดก่อให้เกิดความหวาดระแวงจากประชาชนและสังคมเป็นวงกว้าง เนื่องจากเกรงว่าบุตรหลานจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารเสพติดหรือถูกประทุษร้ายจากผู้เมาสารเสพติด หรือมีความผิดปกติทางจิตจากการใช้สารเสพติด 
ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ 
เป็นภัยต่อความมั่นคง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เป็นสุขของคนในประเทศประเทศชาติสูญเสียงบประมาณในการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติด

เราทุกคนจะป้องกันสารเสพติดอย่างไร?
ตนเองเป็นบทบาทสำคัญที่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติดได้ ดังนี้
1. ศึกษาความรู้เกี่ยวกับโทษ และพิษภัยของสารเสพติด ไม่ทดลองเสพสารเสพติดทุกชนิด รู้เท่าทันการหลอกลวง ชักจูงจากกลุ่มผู้ค้าสารเสพติด เลือกคบเพื่อนที่ไม่ใช้สารเสพติดและใช้ทักษะการปฏิเสธเมื่อถูกชักชวน
2. มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต มีความภาคภูมิใจในตนเองว่ามีคุณค่าทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ไม่ควรทำลายชีวิตที่ได้มาด้วยการติดสารเสพติด
3. ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง ระลึกเสมอว่าขณะนี้ตนเองมีบทบาทหน้าที่อะไรเช่น มีหน้าที่เรียนหนังสือก็ควรตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อ แม่ ครู อาจารย์ เป็นต้น
4.รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและทำจิตใจให้แจ่มใสใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ในการทำกิจกรรมต่างๆเช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬา หรือทำงานอดิเรกต่างๆ
5. มีทักษะในการดำเนินชีวิต รู้จักแก้ไขปัญหาในทางที่ถูกที่ควร กล้าเผชิญปัญหา รู้จักคิดไตร่ตรองด้วยเหตุผล ไม่หลีกหนีปัญหาด้วยการเสพสารเสพติด 
6. ขอคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง เพราะการแก้ไขปัญหาโดยลำพังแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจนำไปสู่การใช้ชีวิตที่ผิดพลาดได้

ครอบครัว
ควรสอดส่องดูแลเด็กและบุคคลในครอบครัวอย่าให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อบรม สั่งสอน ให้รู้ถึงโทษภัยของยาเสพติด ดูแลเรื่องการคบเพื่อน คอยส่งเสริมให้รู้จักใช้เวลาในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น การทำงานบ้าน การเล่นกีฬา เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหันเหไปสนใจในยาเสพติด ทุกคนในครอบครัวควรสร้างความรักความเข้าใจ และสัมพันธภาพอันดีต่อกัน ที่พึ่ง เป็นที่ปรึกษาและให้กำลังใจแก่กันและกัน นอกจากนี้พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่ใช้สารเสพติด เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า

โรงเรียน
ควรมีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องพิษภัยสารเสพติดอย่างสม่ำเสมอครูควรเอาใจใส่ในการดูแลนักเรียน เป็นที่ปรึกษาที่ดี และมีการจัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำอย่างไรเมื่อลูกยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด
พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือ โดยอาศัยความรัก ความเข้าใจ เป็นพื้นฐานในการทำใจยอมรับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และปฏิบัติในสิ่งต่อไปนี้
1. ระงับสติอารมณ์ อย่าวู่วามยอมรับความจริง ยอมรับสภาพว่าลูกติดยา เพื่อเตรียมตัวช่วยเหลือบุตรหลาน
2. ไม่ควรแสดงความก้าวร้าวกับลูก เพราะจะทำให้ลูกปกปิดซ่อนเร้นมากขึ้น
3. แสดงความรัก ความเห็นใจอย่างจริงใจ เพื่อให้ลูกหลานยอมเปิดใจ ยอมรับความช่วยเหลือ
4. ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า บุตรหลานติดสารเสพติดประเภทใด ฤทธิ์รุนแรงแค่ไหน ใช้สารเสพติดมานานแล้วหรือยัง ใช้ปริมาณแค่ไหน โดยอาจหาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น เพื่อนสนิท ครูที่โรงเรียน ห้องนอน กระเป๋าเสื้อผ้า เป็นต้น
5. ปรึกษาผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาสารเสพติดหากลูกหลานติดสารเสพติดมานาน จนทำให้สภาพร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงไป หรือมีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเบี่ยงเบนไปจากเดิม และครอบครัวหรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ผู้ปกครองควรส่งลูกเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านจิตใจ ในสถานบำบัดรักษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ผลกระทบจากปัญหาสารเสพติด ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตัวผู้เสพ ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจและประเทศชาติ การแก้ไขปัญหาสารเสพติดต้องเริ่มต้นจากครอบครัวซึ่งใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด โดยการให้เวลากับบุตรหลานและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น นอกจากนี้สังคมโรงเรียนและสถานศึกษาต้องมีการติดตาม สังเกตพฤติกรรมนักเรียน-นักศึกษาที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับสารเสพติด การมุ่งให้ความรู้ในเรื่องอันตราย ผลกระทบที่เกิดจากการใช้สารเสพติด สร้างการรับรู้ ความตระหนักถึงภัยอันตรายน่าจะการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติด และเป็นหน้าที่ของทุกคนจะต้องร่วมมือกัน

เอกสารอ้างอิง
วินัดดา ปิยะศิลป์ และพนม เกตุมาน. (2545). ตำราจิตเวชเด็กและวัยรุ่น. กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์.
ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรมสุขภาพจิต. (2559). สถิติการบำบัดรักษาระบบรายงาน บสต. Retrieved 30 พฤษภาคม 2559, from www.nccd.go.th
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2559). ข้อมูลประชากร 2557. Retrieved 30 พฤษภาคม 2559, from www.nso.go.th

Message us